ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric-dilatation volvulus)
ภาวะกระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric-Dilatation Volvulus) คือ การที่กระเพาะอาหารมีการขยายตัวคล้ายลูกโป่ง เนื่องจากการสะสมของแก๊ส น้ำ และ/หรืออาหารที่กินเข้าไปมากกว่าปกติ ร่วมกับการที่กระเพาะมีการบิดตัว ทำให้เกิดการขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตามมาที่อันตรายจนถึงแก่ชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30% อาการที่สามารถสังเกตได้ อย่างเช่น สุนัขดูปวดท้อง ท้องบวม อาเจียน หายใจลำบาก และเหงือกดูซีด เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดภาวะกระเพาะขยายและบิดตัวนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลทำให้เกิดภาวะดังกล่าวนั้น ก็คือ
- การที่สุนัขมีการเคลื่อนไหว กระโดด นอนกลิ้งตัว ในขณะที่มีอาหารเต็มกระเพาะอาหาร ทำให้มีโอกาสเกิดกระเพาะบิดตัว หรือพลิกไปจากแนวเดิม
- การกินอาหารปริมาณมากในมื้อเดียว, พฤติกรรมการกินที่กินอาหารเร็ว
- พันธุกรรมของสุนัข
สุนัขที่มีความเสี่ยงมากกว่ามักเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ โดยเฉพาะสุนัขสายพันธุ์อกลึก เช่น German Shepherd, Standard Poodle, Great Dane, Saint Bernard แต่ก็สามารถพบในสุนัขพันธุ์เล็กได้เช่นกัน
สุนัขพันธุ์ Saint Bernard เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้
สุนัขพันธุ์ German Shepherd เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นโรคนี้
สุนัขพันธุ์ Great Dane เป็นอีกหนึ่งในพันธุ์ที่พบได้บ่อยว่าเป็นโรคนี้
อาการที่แสดงออกเมื่อสุนัขมีภาวะกระเพาะขยายและบิดตัว ได้แก่ บริเวณท้องดูบวมโต ขยายใหญ่ อาจมีอาการอาเจียน ปวดท้อง กระวนกระวาน อยู่ไม่นิ่ง หายใจตื้น ๆ สั้น ๆ หายใจลำบากเหงือกซีด นอนขดตัว หมดสติ เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะดังกล่าว คุณหมอพิจารณาได้จากพันธุ์สุนัข การซักประวัติ อาการที่แสดงออก ร่วมกับการ
X-ray ที่จะพบว่ากระเพาะมีการขยายตัว
และเต็มไปด้วยแก๊สภายในกระเพาะ
นอกจากนี้อาจจะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูการเต้นของหัวใจร่วมด้วย
ภาพ X-ray ช่องท้องปกติ จะเป็นกระเพาะอาหาร (Stomach) ตามรูป
2 รูปนี้ เป็นภาพ X-ray สุนัขที่มีปัญหากระเพาะอาหารขยายใหญ่ และบิด โดยมีแก๊ซสะสมเต็มท้อง
ในส่วนของการรักษาและการป้องกัน
เนื่องจากเป็นภาวะฉุกเฉินต้องได้รับการแก้ไขอย่างโดยด่วน เมื่อพบอาการข้างต้น
แนะนำให้รีบพามาพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด
โดยการแก้ไขเบื้องต้นทำได้โดยการลดความดันภายในกระเพาะอาหารด้วยการสอดท่อผ่านทางช่องปาก
แต่วิธีข้างต้นเป็นเพียงการแก้ไขชั่วคราวเท่านั้น สุนัขอาจจะกลับมาเป็นอีกได้ ถ้าหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถาวร การจะแก้ไขได้อย่างถาวรต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการพลิกกระเพาะอาหารกลับในแนวเดิม และเย็บตรึงติดกับผนังช่องท้อง เพื่อลดการกลับมาเกิดภาวะดังกล่าวซ้ำอีกครับ
ภาพแสดงการเตรียมการสอดท่อ เพื่อระบายแก๊ซออกจากกระเพาะเพื่อลดความดัน เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ