เมื่อน้องหมามีไข้…ทำไงดี?

สิ่งที่คุณเจ้าของมักจะทำเองเมื่อรู้สึกว่าน้องหมาของเรามีไข้ ตัวร้อน ก็คือ การหายาให้กินเอง และมักจะนึกถึงยาง่ายๆ ที่มีขายในร้านขายยาคนทั่วไป คือ ยาลดไข้สำหรับเด็กซึ่งมักจะเป็นยา Paracetamol หรือบางท่านอาจให้เป็น

เมื่อน้องหมามีไข้…ทำไงดี?

สิ่งที่คุณเจ้าของมักจะทำเองเมื่อรู้สึกว่าน้องหมาของเรามีไข้ ตัวร้อน ก็คือ การหายาให้กินเอง และมักจะนึกถึงยาง่ายๆ ที่มีขายในร้านขายยาคนทั่วไป คือ ยาลดไข้สำหรับเด็กซึ่งมักจะเป็นยา Paracetamol หรือบางท่านอาจให้เป็น Paracetamol ผู้ใหญ่ 500 mg แต่หักครึ่ง ซึ่งหมอถูกถามอยู่บ่อยครั้ง ว่าให้ได้มั๊ย? ถูกต้องมั๊ย? กับการให้ยาแบบนี้ วันนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องไข้ ตัวร้อน และการดูแลที่เหมาะสมกันครับ

ให้ยา Paracetamol ได้หรือไม่?

คำถามยอดฮิตที่คุณเจ้าของมักจะถามหมอเลยครับ ว่า หากมีไข้ตัวร้อน ให้ยา Paracetamol ได้เลยมั๊ย? และให้เท่าไหร่? ขอตอบแบบติดเบรค ก่อนเลยครับว่า ยา Paracetamol ประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ Acetaminophen ซึ่งสามารถเป็นพิษต่อตับของน้องหมาและอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากให้เกินขนาดที่เหมาะสม

และไม่ต้องพูดถึงในแมว ร่างกายแมวไม่มี Enzyme ที่ใช้ทำลายตัวยา จึงไม่สามารถให้ยานี้กับแมวได้เลย อาจทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาไม่นานครับ

แล้วถ้าถามว่ายา Paracetamol ยังให้ในสุนัขได้มั๊ย? ขอตอบว่า ให้ได้ครับ แต่ต้องให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยควรจะอยู่ในการควบคุมจากสัตวแพทย์ และไม่ต้องพูดถึงกรณีที่น้องหมาเป็นโรคตับนะครับ ลืมยาตัวนี้ไปได้เลย อาจทำให้ตับวาย และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของยา Paracetamol

ผลข้างเคียงของยา Paracetamol ที่มีต่อตับ อาจทำให้พบเห็นอาการเหล่านี้ตามมาได้ครับ

  • อาเจียน
  • ชัก
  • เหงือก และลิ้นซีด
  • อวัยวะต่างๆ ทำงานไม่สัมพันธ์กัน
  • น้ำลายไหล
  • กระวนกระวาย

 

ไม่ไหวแล้ว อ้วกซะเลย แหวะ!
ไม่ไหวแล้ว อ้วกซะเลย แหวะ!

คราวนี้ หากถามว่า แล้วถ้าพบว่าน้องหมาตัวร้อน  วัดปรอทแล้วอุณหภูมิสูงขึ้นล่ะ ทำไงกันดี?  

   ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ ถึงภาวะตัวร้อนของน้องหมากันก่อนครับ   ต้องบอกก่อนเลยนะครับว่า น้องหมาปกติ มีอุณหภูมิร่างกายเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 37.8–39.2 °C (100–102.5 °F) ต่างจากในคน ซึ่งปกติแล้วจะมีอุณหภูมิร่างกาย 36.5–37.5 °C (98–100 °F) ซึ่งก็คือ เค้าจะมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าคนซักหน่อย หากเราใช้มือจับสัมผัสแล้วอุ่นๆ อาจไม่ได้หมายความเค้ามีไข้เสมอไปนะครับ แนะนำให้หาซื้อปรอทตามร้านขายยามาวัดไข้จะดีกว่า โดยวิธีการทำง่าย คือ ทำความสะอาดปรอท และสอดเข้าไปที่รูก้นของเค้าประมาณ  2-3 cm และดันปลายปรอทขึ้นด้านบนเล็กน้อย เพื่อให้ปรอทสัมผัสผนังลำไส้ แทนที่จะไปจิ้มอยู่ในก้อนอึของน้องเค้า ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิที่ได้ผิดไปนั่นเองครับ

วิธีการวัดไข้ นำปรอทสอดเข้าทางรูก้น
วิธีการวัดไข้ นำปรอทสอดเข้าทางรูก้น

 

พาผมไปหาหมอที อย่าเพิ่มให้กินยาลดไข้น้าา
พาผมไปหาหมอที อย่าเพิ่มให้กินยาลดไข้น้าา

ที่นี้ ที่เราบอกว่าตัวร้อนๆ หรือ ปรอทที่วัดได้ มีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็มีที่มาได้จาก คำ 2 คำนี้ ครับ คือ ไข้ (Fever) กับ อุณหภูมิร่างกายสูง (Hyperthermia)   อธิบายได้อย่างนี้ครับ ปกติแล้วร่างกายเค้า  จะมี Thermoregulatory set point หรือ ตัวควบคุมอุณหภูมิอยู่ในสมอง เหมือนกับที่แอร์ มี Thermostat  ที่ตัวเครื่องสั่งงานโดยรีโมทไว้ให้เราปรับตั้งความเย็นในห้องนั่นเอง     

  • การมีไข้ (Fever) ตัวที่ก่อให้เกิดไข้ (Pyrogen) จะไปทำให้ Thermoregulatory set point ในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายสร้างความร้อนสูงขึ้นตามไปด้วย    ไข้มักเกิดจาก  การติดเชื้อ หรือมีการอักเสบเกิดขึ้น  โดยอุณหภูมิมักจะสูงขึ้นเกิน 39.4 °C (103 °F) 
  • ขณะที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น (Hyperthermia) ระดับ Thermoregulatory set point  จะยังคงปกติอยู่ แต่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นแทนนั่นเอง  Hyperthermia อาจเกิดได้จาก  หลังออกกำลังกาย   โรคลมร้อน (Heat Stroke)  หรือได้รับยาบางชนิด  เป็นต้น

 ตัวร้อน เป็นเพียงอาการที่แสดงออกมา ดังนั้น  เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว  ก่อนจะให้ยารักษา  ก็ควรจะรู้สาเหตุก่อนว่าเป็นอะไร และรักษาที่ต้นเหตุนั่นเอง  ซึ่งส่วนนี้ คงต้องอาศัยคุณหมอช่วยเราแล้วล่ะครับ  ปกติคุณหมอจะใช้ข้อมูลประวัติการดูแลเลี้ยงดู ร่วมกับการตรวจร่างกาย และอาจจำเป็นต้องเจาะเลือดเช็คความผิดปกติก่อนนะครับ  โดยคุณหมอจะแยกที่มาให้ได้ซะก่อน ว่าเป็น Fever หรือ Hypertermia แล้วก็มาหาสาเหตุต่อไป จึงจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้อง  

ปัญหาที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อ น้องหมาที่มีเห็บ เห็บเป็นตัวนำ พยาธิเม็ดเลือด หลายชนิด แต่ละชนิดล้วนทำให้มีไข้ได้ทั้งนั้น   พยาธิเม็ดเลือดแต่ละตัวก็มีการรักษาที่แตกต่างกัน บ้างก็ฉีดยา 2 เข็ม  บ้างก็ต้องกินยาเป็นเดือน  บ้างก็รักษาไม่หายขาด  หากเป็นแล้วไม่รักษาฆ่าพยาธิต้นเองเหล่านี้ซะก่อน การลดไข้ก็ไม่มีประโยชน์ครับ  นอกจากนี้ ปัญหาการติดเชื้อ อาจพบได้ ในพวก โรคติดเชื้อไวรัส ทั้งหลายในสุนัข เช่น ไข้หัดสุนัข  ลำไส้อักเสบ  ไวรัส ตับอักเสบ  เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ต้นเหตุเหล่านี้ การให้ยาลดไข้ก็ไม่ช่วยอะไร เช่นกันครับ   ปัญหาอื่นๆ ที่พบได้ คือ มีการอักเสบ เกิดขึ้นในร่างกายครับ  เช่น ปอดบวม  ปอดอักเสบ  ก้อนบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ  เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้ตัวร้อน  มีไข้ตามมาได้ หากเป็นปอดบวม ก็ต้องรักษาให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย การลดไข้ ลดอักเสบเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอนั่นเอง   นอกจากนั้น ที่พบได้ในไทย ที่มีอาการร้อน คือ โรคลมร้อน หรือ โรคลมแดด หรือ ช็อคความร้อน (Heat Stroke) โรคนี้ เกิดจากอยู่ในที่ร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นตาม ทิ้งไว้นานๆ น้องหมาก็เสียชีวิตได้ และที่สำคัญ คือ กรณีโรคนี้ ให้ยาลดไข้ไม่มีประโยชน์เลยครับ ไม่ได้ช่วยอะไร  รู้อย่างนี้แล้ว อย่าให้ยาลดไข้กันเองดีกว่านะครับ

สรุป ว่า หากพบว่าน้องหมาตัวร้อน วัดด้วยปรอทแล้วมีอุณหภูมิสูงขึ้น ควรพามาพบคุณหมอ เพื่อตรวจหาสาเหตุก่อนที่จะลงมือรักษาจะดีที่สุดนะครับ  โดยเมื่อพบสาเหตุแล้ว การรักษาที่ต้นเหตุก็จะทำให้สัตว์หายขาดจากอาการตัวร้อนมีไข้ได้นั่นเองครับ 

 

For you

Search

Ramintra (24 Hours)

Krungthep Kreetha (08.00 - 22.00)