รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

โรคขี้เรื้อนแห้งในสุนัข (Canine scabies)


        โรคขี้เรื้อนแห้งเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากสุนัขป่วยที่เป็นโรค สัตว์ป่วยมักแสดงอาการคันอย่างรุนแรงและมีผิวหนังอักเสบร่วมด้วย เจ้าของสัตว์อาจมีผื่นแดงและมีอาการคันในบริเวณที่สัมผัสกับสัตว์ป่วยที่เป็นโรคได้

Picture 1 : ภาพแสดงไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptes scabiei) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคขี้เรื้อนแห้งในสุนัข

สาเหตุ

                 โรคขี้เรื้อนแห้งมีสาเหตุจากการติดไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptic mange) จากสัตว์ป่วยที่เป็นโรค โดยอาจเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยที่เป็นโรคโดยตรงหรือติดต่อทางอ้อมจากสิ่งแวดล้อมหรืออุปกรณ์เครื่องใช้เช่นแปรงสำหรับแปรงขนได้

Picture 2 : ภาพแสดงการขุดโพรงที่ผิวหนังของสุนัขของไรขี้เรื้อนแห้งตัวเมียเพื่อวางไข่ ทำให้เกิดอาการคันและการอักเสบของผิวหนัง

อาการของโรค

                สุนัขที่ป่วยด้วยโรคขี้เรื้อนแห้งจะมีอาการคันรุนแรงโดยอาการคันของสุนัขมักเกิดจากการที่ไรขี้เรื้อนตัวเมียขุดผิวหนังลงไปในชั้นลึกเพื่อวางไข่ ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณนั้น โดยสัตว์ป่วยมักจะมีสะเก็ดรังแคหรือคราบเลือดแห้งกรังตามผิวหนัง ตำแหน่งที่มักพบรอยโรคได้แก่ขอบใบหูทั้งสองข้าง ข้อศอก ข้อเท้า และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียกแทรกซ้อนผ่านทางบาดแผลที่เกิดจากการกัดหรือเกาของสุนัขเนื่องจากอาการคัน

Picture 3 : ภาพแสดงตำแหน่งที่มักพบรอยโรคในสุนัขที่เป็นโรคขี้เรื้อนแห้ง

Picture 4 : ภาพแสดงลักษณะรอยโรคในสุนัขที่เป็นขี้เรื้อนแห้งที่มักพบอาการขนร่วง 

สะเก็ดผิวหนังอักเสบอย่างรุนแรงบริเวณขอบของใบหู รวมถึงบริเวณข้อศอกและข้อเท้า

การรักษา

                โรคขี้เรื้อนแห้งเป็นโรคที่รักษาได้ไม่ยากนัก โดยมีรูปแบบของยาที่ใช้ในการรักษาคือการฉีดยาไอเวอร์เมคตินเข้าใต้ผิวหนังทุก 2 สัปดาห์ 2-3 ครั้งติดต่อกันหรืออาจใช้ยาหยดหลังที่มีส่วนผสมของยาฆ่าไรขี้เรื้อนเดือนละครั้ง 1-2 ครั้ง นอกจากนั้นควรได้รับยาระงับอาการคันและอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน สิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคขี้เรื้อนแห้ง คือ ต้องใช้ยาฆ่าไรกับสุนัขทุกตัวที่อยู่ในบ้านแม้จะไม่แสดงอาการก็ตาม เนื่องจากสุนัขตัวอื่นที่ไม่แสดงอาการอาจเป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่สุนัขในบ้านและต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมเช่นไม่ให้สุนัขออกไปนอกบ้านเพื่อลดโอกาสในการสัมผัสกับสัตว์ป่วยที่เป็นโรคซ้ำ



Written by Webmaster
Published on 2 November 2012
ทีมสัตวแพทย์ประจำ
โรงพยาบาลสัตว์โอะไดจินิ
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)