ส่งเจ้าสาว (น้องหมา) เข้าหอวันไหนดี?
ควรพาสุนัขไปผสมวันไหน?
รู้ได้ยังไงตกไข่เมื่อไหร่?
นับวันผสมอย่างไรดี?
ตรวจวันตกไข่ได้อย่างไร?
ผสมช่วงไหนดีที่สุด?
กับคำถามยอดฮิต ที่อาจเคยเกิดขึ้นในหัวคุณ หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่เลี้ยงสุนัขเพศเมีย และอยากให้เค้ามีลูกแล้ว วันนี้ เราจะคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ
สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง มีดังนี้
1. อายุที่เหมาะสม สำหรับเจ้าสาวของเรา
2. ช่วงของการเป็นสัด
3. วันตกไข่และช่วงเวลาที่เหมาะในการผสม
1. อายุที่เหมาะสม สำหรับเจ้าสาวของเรา
ก่อนอื่นต้องดูที่ตัวเจ้าสาวของเราก่อนครับ ว่าอายุเท่าไหร่แล้ว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วรึยัง?
วัยเจริญพันธุ์ หมายถึง วัยที่สุนัขมีความพร้อมเต็มที่สำหรับการผสมพันธุ์แล้ว ปกติแล้วสุนัขแต่ละสายพันธุ์จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วช้าไม่เท่ากัน
สำหรับน้องหมาตัวผู้มีอาการคล้ายจะผสมพันธุ์ (อาการที่สุนัขชอบมาเกาะ มาขึ้นขี่ที่ขาของเรา) สามารถพบได้เด็กที่สุดตั้งแต่เค้าอายุเพียงแค่ 3-4 สัปดาห์ ซึ่งช่วงอายุเท่านี้ จะยังไม่สามารถสร้างสเปิร์มได้ พฤติกรรมเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ และจะหายไปครับ โดยมักจะพบอีกทีตอนเมื่อเข้าสู้วัยเจริญพันธุ์ โดยกว่าครึ่งของสุนัขเพศผู้ มักจะพบพฤติกรรมนี้ตอนอายุประมาณ 5 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงอายุที่พร้อมจะเป็นพ่อพันธุ์ได้แล้วครับ สามารถมีพฤติกรรมที่ว่าได้ ดังนั้นจึงยังไม่ใช่วัยเจริญพันธุ์
สำหรับสุนัขเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จากเป็นสัดครั้งแรก (สังเกตจาก มีเลือดออกจากอวัยวะเพศ ที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจว่าคือประจำเดือน แท้จริงแล้วไม่ใช่ ต่างจากในคนนะครับ) ได้ตั้งแต่อายุ 5-12 เดือน โดยในสุนัขพันธุ์เล็ก จะพบว่าเป็นสัดครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 5-6 เดือน ขณะที่สุนัขพันธุ์ใหญ่ มักจะพบก็ตอนช่วงอายุ 18-24 เดือนเลยครับ จะเห็นว่าแตกต่างกันมากเลยนะครับ ทั้งนี้ ถึงจะเรียกได้ว่า ช่วงอายุเท่านี้ คือเข้าสู้วัยเจริญพันธุ์ของสุนัขเพศเมียแล้ว แต่ก็ยังไม่ควรพาเค้าไปผสมนะครับ ช่วงอายุที่ดีที่สุด ที่จะเริ่มพาเจ้าสาวของเราไปผสมได้ คือ อายุอย่างน้อย 2 ปี หรือจนกว่าจะเป็นสัดครั้งที่ 2-3 นั่นเองครับ
2. ช่วงการเป็นสัด
ช่วงการเป็นสัด “สัด” เขียนแบบนี้ ไม่ผิดครับ ในสุนัขเพศเมีย จะมีวงรอบของระบบสืบพันธุ์ ซึ่งเราจะเรียกกันว่า วงรอบของการเป็นสัดนั่นเองครับ (Estrous Cycle or Heat) อธิบายสั้นๆ ให้พอเข้าใจดังนี้ครับ
วงรอบของการเป็นสัด ในสุนัขเพศเมีย แบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง คือ
- Proestrous ระยะนี้ ใช้เวลา 5-9 วัน เป็นระยะเตรียมความพร้อมของระบบสืบพันธุ์ เมื่อเข้าสู่ระยะนี้ จะพบว่าอวัยวะเพศจะบวม และสามารถพบเลือด (Bloody Vaginal Discharge) ไหลออกมาได้ ระยะนี้ ตัวผู้จะแสดงความสนใจ แต่ตัวเมียจะยังไม่ยอมให้ผสม
- Estrous ระยะนี้ จะเกิดขึ้นต่อจากระยะ Proestrous ใช้เวลา 5-9 วันเช่นกันจะยังพบว่ามีเลือด (Bloody Vaginal Discharge) ไหลออกมาได้อยู่แต่ก็จะพบเพียงเล็กน้อย แล้วก็จะหมดไป ระยะนี้ จะมีการตกไข่ และเจ้าสาวของเราก็จะยอมให้ขึ้นผสมแล้วครับ และหากมีการผสมเกิดขึ้น ก็จะเกิดการปฏิสนธิขึ้นระหว่างไข่ และน้ำเชื้อจากเพศผู้นั่นเองครับ
- Diestrous ระยะนี้ จะเกิดหลังจากสิ้นสุดระยะ Estrous และจะเป็นช่วงตั้งแต่ตัวเมียเริ่มไม่ยอมให้ผสมแล้ว จนถึงสิ้นสุดการตั้งท้อง ก็คือ เป็นช่วงของการตั้งท้องหากมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นนั่นเองครับ ระยะนี้ จะยาวนานได้มากสุดถึง 80 วัน
- Anestrous ระยะสุดท้ายนี้ จะเกิดภายหลังจาก Diestrous สิ้นสุด จะเป็นช่วงที่ระบบสืบพันธุ์อยู่ในช่วงพัก ใช้เวลาโดยประมาณ 90-150 วัน
3. วันตกไข่ และช่วงเวลาที่เหมาะในการผสม
จากที่กล่าวไปแล้ว คงถึงจุดที่สำคัญที่สุด สำหรับเรื่องนี้ ก็คือ ช่วงเวลาที่เหมาะในการพาเจ้าสาวของเราไปผสมนั่นเอง โดยจริงๆ แล้ววันที่เหมาะสมที่สุด ก็คือ วันหลังจากไข่ตก ได้ 1-2 วัน อธิบายอย่างนี้ครับ โดยปกติแล้วไข่ที่ตก จะเคลื่อนตัวผ่านไปยังท่อนำไข่ และระหว่างนั้นเองจะเป็นช่วงที่ไข่ จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ให้เป็นไข่ที่พร้อมสำหรับการผสม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-5 วัน หากมีการผสมในช่วงวันดังกล่าว น้ำเชื้อจากสุนัขตัวผู้ ก็จะค่อยๆ เคลื่อนผ่าน และไปพบกับไข่ที่พร้อม จนเกิดการปฏิสนธิในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดนั่นเองครับ
ทีนี้ เราจะรู้ว่าถึงวันตกไข่ได้อย่างไร
จากหัวข้อวงรอบการเป็นสัด การตกไข่จะเกิดขึ้นในระยะ Estrous หรือเป็นช่วงที่เราเรียกว่า “เป็นสัด” นั่นเอง ปัญหามีอยู่ว่า เราจะทราบกันได้อย่างไรว่า ณ ตอนนี้ อยู่ในช่วงไหนของวงรอบการเป็นสัด? และถ้าอยู่ในช่วง “เป็นสัด” (Estrous) เนื่องจากระยะ Estrous ก็กินเวลาได้ ตั้งแต่ 5-9 วัน แล้ววันไหนคือวันที่ตกไข่? ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณเจ้าของสัตว์ซีเรียสมากน้อยแค่ไหน และเลือกที่จะให้เค้าถูกผสมด้วยวิธีแบบใด เช่น ผสมตามธรรมชาติ กับสุนัขตัวผู้ที่บ้าน หรือพาไปทับกับพ่อพันธุ์ที่ฟาร์ม หรือถึงขั้นต้องการจะผสมเทียม ซึ่งมีข้อแนะนำที่แตกต่างกันครับ สำหรับวิธีทั้งหมด มีดังนี้
- การนับวันตามค่าเฉลี่ยของระยะต่างๆ รวมถึงการดูการเปลี่ยนแปลงจากลักษณะทางกายภาพภายนอก ทำได้เองง่ายๆ แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนได้บ้างจากตัวเลขของแต่ละระยะคือค่าเฉลี่ย แท้จริงแล้วแต่ละตัวจะเกิดแต่ละระยะของการเป็นสัดไม่เท่ากัน สามารถทำได้ ดังนี้ คือ จากที่กล่าวเรื่องวงรอบการเป็นสัด ช่วง Proestrous ใช้เวลา 5-9 วัน โดยระยะนี้จะเห็นว่ามีเลือดออกมาจากอวัยวะเพศ (Bloody Vaginal Discharge) ให้เริ่มนับจากวันที่เห็นเลือดและมีอวัยวะเพศบวม นับไปประมาณ 9 วัน ก็น่าจะผ่านระยะ Proestrous เข้าสู่ Estrous ซึ่งเป็นระยะที่จะมีการตกไข่ ระยะนี้ สัตว์จะเริ่มยืนนิ่งยอมให้ขึ้นผสม ตรวจสอบได้ด้วยการกดบริเวณหลังช่วงท้าย หรือจับตัวผู้มาขึ้นด้านหลัง จะไม่เดินหนี ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เข้าสู่ระยะ Estrous แน่นอนแล้ว ทั้งนี้ ปกติแล้วไข่มักจะตกหลังจากเข้าช่วง Estrous ได้ 2-5 วันโดยประมาณ ระยะนี้ เป็นระยะที่เกิดการผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ ดังนั้น หากใช้เพียงแค่การนับวันเท่านั้น ก็อาจเริ่มให้เจ้าสาวของเราเจอหนุ่มได้ ตั้งแต่เข้าระยะนี้ได้ซัก 2 วันครับ
- การตรวจดูเซลล์ผนังเยื่อบุช่องคลอด (Vaginal Cytology) เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และบ่งบอกถึงระยะของการเป็นสัดเท่านั้น ไม่สามารถบอกว่าตกไข่วันไหนได้เช่นกัน หากต้องการจะทำคงต้องพาไปตรวจกับคุณหมอแล้วล่ะครับ คุณหมอจะทำการเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุช่องคลอดไป ป้ายและย้อมสีบนสไลด์ และส่องกล้องตรวจดู ว่าเป็นเซลล์ชนิดไหนอย่างไร โดยในแต่ละระยะของวงรอบการเป็นสัด เซลล์ผนังเยื่อบุช่องคลอดที่พบจะแตกต่างกันครับ ตามอิทธิพลของฮอร์โมน Estrogen คำถามคือ “ถ้ารู้ได้แค่นี้ ก็เหมือนไม่มีประโยชน์เลยสิหมอ” จริงแล้วหากใช้การทำ Vaginal Cytology เพียงอย่างเดียว ก็จะใช้เพียงแค่ตรวจได้ว่าเข้าสู่ระยะ Estrous แล้วหรือยังเท่านั้น ส่วนวันตกไข่ จะใช้เป็นการกะประมาณเอาว่า 2 วันหลังจากเข้าสู่ระยะนี้ น่าจะมีการตกไข่เกิดขึ้นนั่นเองกำหนดที่เจ้าสาวจะเจอหนุ่มก็ใช้วิธีเดียวกันกับ การนับวันตามข้อ 1. นั่นเอง เพียงแต่ว่า รู้ได้ชัดเจนกว่าว่าเข้าสู่ระยะ Estrous แน่นอนแล้ว แต่โดยปกติแล้วคุณหมอจะใช้วิธีนี้ ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในการตรวจหาวันที่เหมาะสมในการผสมนั่นเองครับ
Picture 1 : การเก็บตัวอย่างเซลล์ทำ Vaginal Cytology (www.vetmed.lsu.edu)
Picture 2 : ภาพแสดงการ Smear ตัวอย่างที่เก็บได้บนสไลด์ก่อนย้อมสีและส่องตรวจ (www.vetmed.lsu.edu)
Picture 3 : ภาพแสดงตัวอย่างเซลล์ที่พบจากการส่งกล่องตรวจ Vaginal Cytology
- การตรวจหาวันตกไข่ การตกไข่ของสุนัขจะขึ้นอยู่กับอิทธิพลของฮอร์โมน LH ซึ่งหลังจากเข้าสู่ระยะของการเป็นสัด (Estrous) แล้ว ระดับฮอร์โมน LH ก็จะเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดการตกไข่ภายใน 2-3 วัน แต่เนื่องจากฮอร์โมน LH นี้มีการขึ้น และลงในช่วงสั้นๆ การจะตรวจให้เจอฮอร์โมน LH ตัวนี้จึงทำได้ลำบาก ปัจจุบันเป็นที่นิยมในการใช้วิธีตรวจหาฮอร์โมน Progesterone แทน ซึ่งพบว่าฮอร์โมน Progesterone จะเริ่มค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ก่อนฮอร์โมน LH จะขึ้นจนฮอร์โมน LH ลงแล้วก็ตาม ฮอร์โมน Progesterone จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่ เราจึงสามารถตรวจเจอ Progesterone ได้ง่ายกว่า ส่วนการแปรผลการตกไข่จากค่าฮอร์โมน Progesterone มีดังนี้
- ต่ำกว่า 1 ng/ml มักจะอยู่ในช่วงก่อนการเป็นสัด (Proestrous)
- 2.0-2.9 ng/ml บ่งบอกว่าน่าจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมน LH สูงขึ้น (LH Surge)
- 3.0-3.9 ng/ml มักจะเป็นช่วงก่อนตกไข่ 1 วัน
- 4.0-8.0 ng/ml มักเป็นช่วงที่ตกไข่ (Ovulation)
ไข่ที่ตกแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน เพื่อจะเปลี่ยนแปลงให้พร้อมสำหรับการผสม โดยไข่ที่พร้อมผสมนี้ จะอยู่ได้ 2-3 วันก่อนจะฝ่อไป การผสมให้ตรงวันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการผสมติดนั่นเอง จากที่หมอเล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ ทำให้เป็นการง่ายที่จะจัดการผสมในวันที่เหมาะสม รู้แล้วล่ะว่าจะส่งเจ้าสาวเข้าหอเจอหนุ่มวันไหนดี
จากที่ไข่ต้องใช้เวลา 2 วัน สำหรับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไข่ที่พร้อมสำหรับการผสม ดังนั้น เราจะผสมพันธุ์สุนัขภายหลังการตกไข่ 1-2 วัน และควรผสมซ้ำในอีก 2 วันถัดไป เช่น ถ้าผสมวันนี้ พรุ่งนี้เว้น ผสมอีกทีวันมะรืนเลยครับ
จากข้อมูลที่หมอเล่าให้ฟัง น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขที่ต้องการอยากให้เค้ามีลูกน่ารักๆ โดยการจะเลือกผสมด้วยวิธีใดก็ตามนั้น การทราบระยะของการเป็นสัด และการรู้วันตกไข่ น่าจะเป็นช่วยให้คุณเจ้าของสัตว์เลือกวันผสมได้อยากถูกต้องนะครับ ^^