รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข (ตอนที่ 10 : เมื่อไหร่ควรจะพาเค้ามาให้คุณหมอช่วยคลอด)


10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข

  1. ถ้าอยากให้สุนัขตั้งท้องควรเตรียมตัวแม่สุนัขอย่างไร
  2. สุนัขตั้งท้องนานกี่วัน
  3. ตั้งท้องแล้วจะต้องให้อาหารอะไร
  4. สุนัขตั้งท้องอาบน้ำ และออกกำลังกายได้มั๊ย
  5. สุนัขตั้งท้องสามารถฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันพยาธิหัวใจได้มั๊ย
  6. จะรู้ได้ยังไงว่าสุนัขท้อง
  7. จะรู้ได้อย่างไรว่ามีลูกกี่ตัว
  8. จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงกำหนดคลอดเมื่อไหร่
  9. จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขจะคลอดยากหรือไม่
  10. เมื่อไหร่ควรจะพาเค้ามาให้คุณหมอช่วยคลอด

        มาถึงคำถามยอดฮิตคำถามสุดท้ายแล้วนะครับ กับคำถามที่วา “เมื่อไหร่ควรจะพาเค้ามาให้คุณหมอช่วยคลอด” กับคำถามนี้ ต้องบอกว่า เป็นคำถามที่คุณเจ้าของส่วนใหญ่ค่อนข้างจะอยากรู้มาก เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญที่หากคิดจะให้แม่สุนัขที่บ้านมีลูกแล้ว นาทีนี้ถือเป็นนาทีชี้เป็นชี้ตายเลยทีเดียว ต้องบอกอย่างนี้ครับ ปกติแล้วธรรมชาติสร้างสัตว์ทุกชนิดมาให้คลอดลูกเองได้เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้วครับ แต่ก็จะมีสัตว์บางตัวที่มีปัญหาการคลอดยากได้ครับ ทั้งนี้การตรวจสุขภาพระหว่างตั้งท้องเป็นประจำก็จะทำให้เราพอจะทราบแนวโน้มของการคลอดยากได้บ้าง  ทำให้คุณเจ้าของมีการเฝ้ารอ เฝ้าระวังภายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไป  และพาแม่สุนัขมาหาหมอได้ทันเวลา หากมีภาวะคลอดยากเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งแม่สุนัข และลูกปลอดภัยมากที่สุดนั่นเองครับ

ก่อนอื่นหมอขอกล่าวถึง ระยะของการคลอดลูกในสุนัขก่อน มีทั้งหมด 3 Stage ดังนี้ ครับ

Stage 1 ในระยะแรกของการคลอดนี้ พบว่าแม่สุนัขจะเริ่มมีการขยายตัวของปากมดลูก และตัวมดลูกเองก็เริ่มมีการบีบตัว  การบีบตัวนี้จะทำให้แม่สุนัขปวดท้อง และกระวนกระวายได้ คุณเจ้าของอาจจะพบว่า แม่สุนัขดูจะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว  นอนไม่ค่อยได้  กระสับกระส่าย เดินไปเดินมา  ตัวสั่น  หอบ และบางตัวอาจพบว่ากินอาหารลดลง ไม่กินอาหาร หรือ มีอาเจียนเกิดขึ้นได้ครับ  บางตัวพบว่ามีการร้องครางอยู่ตลอด และอาจพบการขุดคุ้ยพื้นลักษณะเหมือนจะทำรังได้ในระยะนี้ การที่มดลูกมีการบีบตัวนี้สังเกตได้ไม่ง่ายเลยจากภายนอก อาจดูไม่ออกได้ อย่าสับสนกับการเบ่งของแม่นะครับ คนละอย่างกัน ระยะนี้ถือเป็นระยะที่ยาวนานที่สุดของการคลอด อาจกินเวลาได้ตั้งแต่ 6 ชม. ถึง 18 ชม. เลยทีเดียว  เมื่อสิ้นสุดระยะแรกนี้ จะพบว่า ปากมดลูกจะเปิดสมบูรณ์พร้อมสำหรับการเคลื่อนผ่านของลูกแล้วนะครับ  ในระยะนี้ ควรดูแลจัดการโดย ให้แม่สุนัขอยู่ในที่เงียบสงบ ผ่อนคลาย สำหรับคุณแม่ที่ติดเจ้าของมากๆ หน่อย ต้องหลีกเลี่ยงการไปจับ ไปอุ้ม น้องเค้าบ่อยๆ นะครับ ให้เค้าอยู่เงียบๆ เพียงลำพังจะดีกว่า การติดเจ้าของ และไปยุ่งกับเค้ามากอาจรบกวนกระบวนการคลอดตามปกติเหล่านี้ได้ครับ

Stage 2 ระยะที่ 2 ของการคลอด ระยะนี้มดลูกจะเริ่มบีบตัวแรงขึ้น  นอกจากนั้นยังจะพบน้ำลักษณะสีฟางข้าวไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเกิดจากถุงน้ำคร่ำแตกนั่นเอง ปกติหลังจากถุงน้ำคร่ำแตก และหากมีการเบ่งอย่างแรง ภายใน 10-30 นาที มักจะพบลูกสุนัขค่อยๆ เคลื่อนตัวออกมาหลังจากคลอดออกมา แม่สุนัขมักจะเลีย ทำความสะอาด และกัดสายสะดือลูกให้ขาดเอง ในขั้นตอนนี้ ถ้าแม่สุนัขทำเองได้ ควรปล่อยให้ทำเอง เพราะเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่ทำให้แม่สุนัขรู้จัก และยอมรับลูกของตัวเอง นอกจากนี้ การเลียแรงๆ ของแม่ยังช่วยกระตุ้นการหายใจ และระบบไหลเวียนในร่างกายลูกด้วย แต่ก็พบว่าสุนัขบางตัวอาจกินลูกตัวเองได้  เมื่อลูกสุนัขคลอดออกมาแล้ว หากถุงที่หุ้มไว้ไม่แตก และแม่สุนัขไม่ยอมฉีกถุง ก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วนะครับที่จะต้องทำแทน โดยให้คุณเจ้าของฉีกถุงน้ำให้แตกออก แล้วรีบเช็ด หรือใช้ลูกยางดูดของเหลวทั้งหลายออกจากปาก และจมูกของลูกน้อย เพื่อเปิดทางหายใจให้เค้า จากนั้นน้ำผ้าขนหนูนุ่มๆ เช็ดถูตัวด้วยน้ำหนักพอเหมาะเสมือนแม่สุนัขเลีย ต้องไม่เบา และไม่แรงจนเกินไป เพื่อเป็นการกระตุ้นการหายใจแทนแม่สุนัขนะครับ


Picture1 : ภาพแสดงลูกอยู่ในถุง หากแม่สุนัขไม่กัดถุงออก คุณเจ้าของจะต้องช่วยทำให้ครับ


Picture2 : ภาพแสดงแม่สุนัขกัดถุง และฉีดสายสะดือให้ลูกเอง


Picture3 : ภาพแสดงแม่สุนัขช่วยเลียกระตุ้นการหายใจ และการไหลเวียนเลือด

       ไม่ปกตินัก แต่ก็พบได้บ้างว่า แม่สุนัขหลังจากคลอดตัวก่อน อาจมีการพักนานถึง 4 ชม. กว่าตัวถัดไปจะออกต่อ ถ้าพบว่านานกว่านั้นและมั่นใจว่ายังมีลูกเหลืออยู่แน่ๆ จังหวะนี้แหละครับที่ควรพามาหาคุณหมอแล้ว โดยส่วนตัวหมอแนะนำว่า โดยค่าเฉลี่ยแล้วมักจะคลอดตัวถัดไปภายใน 30 นาที ถึง 2 ชม. และอาจพามาให้หมอก่อนถึง 2 ชม. ได้แล้ว ทั้งนี้หมอจะประเมินอาการอีกที ทั้งนี้เพราะ กรณีที่มีการเบ่งอย่างรุนแรงนานกว่า 1 ชม. ก็ควรพบว่าลูกค่อยๆ เคลื่อนออกมาแล้ว แต่ หากนานกว่านั้น ก็น่าจะมีการคลอดยากแล้วนั่นเอง แต่กรณีที่ยกตัวอย่างว่าอาจมีบางตัวคลอดห่างถึง 4 ชม. มักจะพบกรณีที่มีลูกเยอะ และระหว่างรอตัวถัดไป ไม่ได้มีการเบ่งอย่างรุนแรงของแม่แต่อย่างใด มักเกิดจากกรณีที่ลูกอยู่ในสุดของลดลูก และต้องรอให้มดลูกค่อยๆ บีบไล่ลูกออกมานั่นเอง ดังนั้น ให้หมอเป็นผู้ประเมินน่าจะปลอดภัยที่สุดครับ

Stage 3ระยะที่ 3  ระยะสุดท้ายนี้ เป็นระยะที่เกิดหลังจากคลอดลูกทั้งหมดออกมาแล้ว มดลูกจะยังคงบีบตัวอยู่บ้าง เพื่อขับรกที่เหลือ เลือด และของเหลวอื่นๆ ออกมา

สรุปแล้วเจ้าของควรจะพาแม่สุนัขมาหาหมอ ก็ต่อเมื่อ มีอาการคลอดยาก ดังนี้ครับ

  • เมื่อมีการแบ่งแรงๆ นานเกินกว่า 30 นาทีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ไม่มีลูกโผล่มาให้เห็น
  • เข้า Stage 2 นานเกินกว่า 4 ชม.ไปแล้วแต่ยังไม่มีลูกตัวแรก
  • กรณีที่แม่สุนัขพักไประหว่างคลอดนานกว่า 2 ชม. ไปแล้วหลังจากคลอดลูกตัวก่อนไป และมั่นใจว่ายังมีอีก 
  • มีการตั้งท้องนานเกิน 66 วันไปแล้ว โดยนับจากวันที่มีการตกไข่ (กรณีที่ได้ตรวจวันตกไข่ด้วย Progesterone แล้วได้ค่า 4-8 ng/ml)
  • พบของเหลวสีเขียวเข้ม (Uteroverdin) จากการที่รกลอกหลุดจากมดลูกแล้ว ลูกควรออกมาภายใน 30 นาที หรือมีความคืบหน้าให้เห็นชัดเจน หากไม่แล้วควรรีบพามาพบหมอนะครับ


Picture4 : ภาพลูกสุนัขมาจุกที่ปากช่องคลอดแต่คลอดเองไม่ได้ ต้องผ่าออก

Picture5 : ภาพของเหลวสีเขียว (Uteroverdin) ที่ออกมาจากช่องคลอด
เป็นสัญญาณสำคัญคัยว่ารกลอกหลุดแล้ว ลูกควรออกมาภายใน 30 นาทีนี้

        ทั้งหมดนี้  เป็นช่วงระยะเวลาคร่าว ที่ควรให้สัตวแพทย์เข้าไปช่วยคลอดได้แล้วครับ  และเป็นส่วนที่คุณเจ้าของสังเกตเห็นเองที่บ้านได้ เป็นลักษณะอาการที่แสดงว่าน่าจะมีการคลอดยากเกิดขึ้นแล้วครับ ให้รีบพามาหาคุณหมอได้เลย  โดยควรเผื่อเวลาสำหรับการเดินทาง เผื่อเวลาให้คุณหมอได้ทำการช่วยคลอดด้วย อย่ารอนานเกินไป  เนื่องจากมีคุณเจ้าของที่พอจะทราบช่วงเวลาที่ว่านี้ แต่รอให้ถึงเวลาพอดี แต่เดินทางมาใช้เวลาไปอีก 30-45 นาที กลายเป็นว่า ลูกอาจเสียชีวิตไปแล้วบางตัว หรือทั้งหมดได้ครับ

        เป็นไงบ้างครับ กับ 10 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการตั้งท้องในสุนัข  หมอหวังว่าข้อมูลที่ให้ไป จะเป็นประโยชน์แก่คุณเจ้าของ และช่วยในการจัดการดูแล ว่าที่คุณแม่ได้เป็นอย่างนี้นะครับ ^^ แล้วพบกันในบทความต่อๆ ไปครับ

รูปจาก : asiahomes.com, alikacoton.com, all-about-goldens.com, camelotrr.com


Written by Webmaster
Published on 22 November 2012
น.สพ.คณิน  ตันติสุวัฒน์
น.สพ.คณิน ตันติสุวัฒน์
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)