รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

ทำอย่างไรดี? เมื่อเจ้าหมาที่บ้านขึ้นชื่อเรื่อง”ความดุ”


        “ทำไมน้องหมาดุ” หนึ่งในคำถามยอดฮิตที่มักถูกถามจากบรรดาเหล่าผู้เลี้ยงน้องหมาทั้งหลาย “ปกติตอนเด็กน้องไม่ดุนะคะ ทำไมโตมาถึงดุ” “น้องหมาดุเฉพาะตอนอยู่กับคนอื่นคะ” “น้องดุมากเลยครับพาไปไหนไม่ได้เลยครับ” และอีกหลายคำถามที่มักได้ยินเป็นประจำ จับใจความสั้นๆ ได้ว่าเจ้าของหลายคนคงกังวลและสงสัยกันใช่มั้ยคะ ว่าทำไมน้องหมาที่เราเลี้ยงอยู่ดีๆ ก็ขึ้นชื่อเรื่องความดุขึ้นมาได้ บางตัวอาจจะแสดงความดุมาตั้งแต่เริ่มเลี้ยง หรือบางตัวอาจจะเริ่มแสดงพฤติกรรมตอนโตก็อาจเป็นได้ ก่อนที่จะไปจัดการกับเจ้าน้องหมาดุเนี่ย เรามาทำความเข้าใจกับสาเหตุที่เป็นไปได้ที่อาจทำให้น้องหมาของเราดุขึ้นมาได้ก่อนดีกว่าค่ะ
สาเหตุที่อาจทำให้น้องหมาดุ??
1. สายพันธุ์ 

ลูกสุนัขพันธุ์ Pit Bull Terrier


สุนัขพันธุ์ Rottweiler


สุนัขพันธุ์ Tibetan Mastiff

        ส่วนใหญ่หลายๆ คน ทั้งที่ไม่ได้เลี้ยงน้องหมาและเป็นเจ้าของน้องหมาเองนั้น สาเหตุแรกที่มักโยนไปให้ความดุของน้องหมานั่น คือ เจ้าสายพันธุ์นี่เองคะ เพราะหลายคนเข้าใจกันว่าน้องหมาพันธุ์เหล่านี้ ถ้าเห็นปั๊บจะต้องดุ และพร้อมจะกระโจนใส่อย่างแน่นอน ยกตัวอย่าง เช่น เจ้าพิทบูลเทอร์เรีย ร็อตไวเลอร์ หรือโดเบอร์แมน  เป็นต้นนั่นเองคะ แต่ถ้าพูดกันตามจริงแล้วก็มีส่วนจริงอยู่บ้างนะคะที่น้องหมาพันธุ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะดุได้สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ สาเหตุจากพื้นฐานสายพันธุ์ของเค้านั่นเองคะ บางสายพันธุ์เหล่านี้เป็นน้องหมาพันธุ์นักล่า บางพันธุ์เป็นพันธุ์ใช้พลังงานเยอะ หากมีสิ่งมากระตุ้นกับน้องหมาพันธุ์เหล่านี้ก็อาจมีส่วนทำให้เค้าแสดงพฤติกรรมพื้นฐานของสายพันธุ์ออกมาได้คะ แต่ปัญหาที่กล่าวนั้น เราสามารถควบคุมได้นะคะ เพราะถ้าเจ้าของคนไหนสามารถอบรมเลี้ยงดูและมีการฝึกฝนน้องหมาเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง รับรองได้เลยคะว่าสามารถน้องหมาดุๆ ให้กลายเป็นน้องหมานิสัยดีไร้ปัญหาให้กังวัลอย่างแน่นอนคะ
2. พฤติกรรมการเลี้ยง 
        ความเป็นไปได้ที่ทำให้น้องหมาเราของเราดุนั้น ปัจจัยหลักๆ เลยนะคะ มักจะขึ้นกับการเอาใจใส่เลี้ยงดูของเจ้าของ เพราะตัวเจ้าของนี่เองล่ะค่ะที่อาจจะเปลี่ยนน้องหมาที่เคยน่ารักให้กลายเป็นน้องหมาที่ดุหรือก้าวร้าวขึ้นมาได้ไม่ยาก ทั้งที่เจ้าของเองไม่ได้ตั้งใจให้เค้าดุ  หมอจะขอยกตัวอย่าง บางพฤติกรรมการเลี้ยงที่ผิดวิธีที่เจ้าของมักทำกันบ่อยๆ และมีผลต่อน้องหมาของเราได้นะคะ
  • การเลี้ยงน้องหมาอย่างตามใจมากเกินไป หรือเรียกกันว่าการสปอยล์นั่นเองคะ ส่วนใหญ่พฤติกรรมการเลี้ยงแบบนี้มักเกิดกับเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กๆ มากกว่านะคะ บางครั้งเจ้าของอาจจะคิดว่าการเลี้ยงแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ขอบอกเลยว่าเป็นการเข้าใจผิด  เพราะหากเราตามใจเค้าตลอด ไม่ห้าม ไม่ดุ ไม่ตักเตือนเมื่อน้องหมาทำอะไรผิด น้องหมาจะเข้าใจว่าพฤติกรรมนั้นเป็นสิ่งที่เค้าทำได้ ไม่ผิด ส่งผลต่อความเคยชินของเค้า น้องหมาก็จะแสดงพฤติกรรมนั้นต่อไปเรื่อยๆ กว่าเจ้าของจะตระหนักถึงปัญหา ตอนนั้นเจ้าของก็อาจจะออกคำสั่งหรือควบคุมน้องเค้าไม่ได้ได้อีกต่อไปแล้วคะ ก็น้องเค้าชินแล้วละคะ! 



  • พฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่ดีอาจกลายเป็นความฝังใจ  ความทรงจำที่เหลวร้าวอาจทำให้เจ้าหมาน้อยของเราจำฝังใจได้นะคะ อย่างเช่น การทำโทษทุบตีแบบไม่รู้สาเหตุ เจ้าของบางคนเอะอะก็ตี เอะอะก็ทุบอยู่ตลอด น้องหมาของเราก็มีชีวิตจิตใจนะคะ เพราะความเจ็บปวดจากการโดนทำโทษที่รุนแรงนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมมได้ ทำให้กลายเป็นน้องหมาที่คอยแต่หวาดระแวง หากมีใครเข้าใกล้ก็อาจจะกัดหรือแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวออกมาได้คะ



  • การขังกรงอยู่ตลอดเวลา น้องหมาบางตัวอาจจะเครียดเกินไปที่อยู่ในที่แคบๆอยู่ตลอด ไม่มีสังคม ทำให้อาจเกิดเป็นความหงุดหงิด และเกิดปัญหาความก้าวร้าวตามมาได้นะคะ




3. ว่าด้วยเรื่องอาหาร 



        กินอย่างไรดีให้เหมาะสม เจ้าของหลายๆ คนคงเคยได้ยินกันว่าการให้กินของหวานแล้วทำให้สุนัขดุ จริงๆ แล้วความเข้าใจนี้ อาจจะไม่ได้ผิดซะทีเดียวนะคะ แต่เรามาเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้องกว่าเดิมกันดีกว่าค่ะ ว่าการกินของหวานเยอะๆ นั้น แท้จริงแล้วทำให้พลังงานที่ได้รับของน้องหมามีมากขึ้น ไอ้เจ้าพลังงานตัวนี้ล่ะ หากได้รับและมีการสะสมมากๆ ขึ้นไปโดยที่เค้าไม่ได้รับการปลดปล่อยเจ้าพลังงานนี้ (ปลดปล่อยในที่นี้ คือการพาไปออกกำลังกาย เพื่อปลดปล่อยหรือใช้พลังงานเหล่านี้ให้ลดลงไปบ้าง) ผลที่ตามมา ก็คือ การที่จะเห็นความไฮเปอร์ของน้องหมาเวลาเจอกับเจ้าของ หรือถ้าเป็นหนักหน่อย เมื่อมีการสะสมมากเกินไปของพลังงานจนก่อให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ และนำไปสู่ความก้าวร้าวได้เลยนะคะ 
4. สิ่งแวดล้อมรอบตัว 
        เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่มีผลต่อความดุของน้องหมานั่นเองคะ บางครั้งสิ่งที่อยู่รอบตัวน้องหมาอาจมีส่วนที่จะทำให้น้องหมาเกิดความดุหรือก้าวร้าวขึ้นมาได้นะคะ อย่างเช่น  
  • ความหวง น้องหมาของเราสามารถหวงได้ทุกอย่างรอบตัวเลยคะ ก็อย่างว่าของของใครใครก็หวงจริงมั้ยคะ ที่มักจะเห็นกันบ่อยๆ เลย เช่น หวงถิ่นฐานบ้านช่องของตัวเอง ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ที่เดินผ่านหน้าบ้านไปมาบางครั้งก็เห่า บางครั้งก็แทบจะกระโจนใส่คนแปลกหน้าไปได้เลยแบบไม่ทันตั้งตัว หรือหวงเจ้าของอันนี้อาจจะเห็นบ่อยๆ ใครมาเข้าใกล้เจ้านายของเค้าไม่ได้เลยเชียว เป็นได้ขู่ ได้กัดกันเลยทีเดียว อีกหนึ่งอย่างที่เจ้าหมามักหวง ก็ลูกน้อยของเค้าเองนั่นละคะ เห็นลูกหมาน่ารักๆ ก่อนที่จะคิดเข้าไปอุ้ให้ดูตาแม่เค้าก่อนนะคะ อย่าเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าเชียวละ


    แม่หมาที่อาจหวงลูก และแสดงออกด้วยการดุขึ้น

  • ความเจ็บปวด  น้องหมาของเราก็มีเจ็บไข้ได้ป่วยปวดเนื้อปวดตัวกันบ้างเป็นธรรมดา ถ้าน้องเค้าอยู่ในช่วงนี้ อารมณ์อาจมีความระแวดระวังภัยได้เป็นพิเศษได้นะคะ ยิ่งถ้าเราไปโดนส่วนที่น้องเค้าเจ็บละก็ หันมางับเราได้โดยอาจหลบไม่ทันกันเลยทีเดียวคะ 



5. เพศ

        อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อความก้าวร้าวและความดุ คือ เรื่องของเพศ และการทำหมันนั่นเองคะ โดยมีการพบจากสถิติว่า ความดุในน้องหมาตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมัน มักจะมากกว่าในน้องหมาตัวเมียที่ยังไม่ทำหมันนะคะ แต่ก็ใช่ว่าการทำหมันแล้วจะไม่ดุเสมอไปคะ หรือเป็นตัวผู้แล้วจำเป็นต้องดุกว่าเสมอ อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความดุได้อีกหลายอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นนะคะ ไม่ใช่แค่เจ้าฮอร์โมนเพศตัวเดียวคะ 


แล้วเราจะทำยังไงดีก็น้องหมาดุ?
        ก่อนที่จะแนะนำวิธีกัน อย่างแรกเลยนะคะ เจ้าของต้องทำความเข้าใจและยอมรับกับพฤติกรรมความดุร้ายก้าวร้าวที่เกิดขึ้นก่อนนะคะ ไม่ใช่พอรู้แล้วเจ้าของบางคนยิ่งผลักไสออกห่างจากตัว บางคนถึงกับขังกรงไว้ตลอด พฤติกรรมแบบนี้ยิ่งเพิ่มพูนความเสี่ยงที่ทำให้น้องยิ่งดุมากขึ้นด้วยนะคะ รวมทั้งเจ้าของบางคนถึงกับเอาน้องหมาที่ดุนั้นไปปล่อยทิ้งบ้าง เกิดเป็นภาระให้กับสังคม และคนรอบข้างแทนได้ ซึ่งไม่ดีเอาซะเลยนะคะ  บอกเลย อันนี้ไม่แนะนำเป็นอันขาด ห้ามทำ! เลยนะคะ  อย่างน้อยเราได้ชื่อว่าเลี้ยงเค้ามาก็ควรจะรับผิดชอบเค้าให้ดีที่สุดนะคะ งั้นไปดูกันเลยดีกว่าว่าเราควรจะจัดการอย่างไรดีกับน้องหมาเหล่านี้


1. การเลี้ยงดูอย่างถูกต้องถูกวิธี
        ข้อนี้สำคัญมากๆๆๆ นะคะ เค้าว่าการป้องกันดีกว่าการแก้ไขเสมอ ดังนั้นเราควรจะเริ่มต้นด้วยสิ่งที่ดีก่อนที่จะเกิดปัญหานะคะ อย่างแรกที่ควรทำ คือ เราต้องเข้าใจ  การเข้าอกเข้าใจถึงนิสัยพื้นฐานของสายพันธุ์ของน้องหมาที่เราเลี้ยง รวมถึงความต้องการของน้องหมาของเราด้วยว่าสายพันธุ์เค้าต้องการอะไรเป็นพิเศษ เข่น
  • ในสุนัขพันธุ์เล็ก  ส่วนใหญ่ในหมาพันธุ์เล็กปัญหาความดุร้ายย่อมมีแนวโน้มน้อยกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราเลี้ยงอย่างดีหัดเอาใจใส่อยู่เสมอ ย่อมเป็นการดีอยู่แล้วคะ  แต่อย่าลืมนะคะ! จะต้องไม่ตามใจเค้ามากเกินไป เลี้ยงกันด้วยเหตุผล ผิดคือผิด ผิดก็ต้องมีการทำโทษเล็กๆ น้อยๆ ให้เค้าชิน แต่การทำโทษในทีนี้ก็ไม่ช่ายทำรุนแรงตบตีกันเกินเหตุนะคะ เราอาจจะมีการดุหรือใช้เสียงที่ดังขึ้นกว่าเดิม หรืออาจจะใช้วิธีเมินเฉย ไม่เล่นด้วย ไม่สนใจเค้า และการทำโทษก็ควรจำทำทันทีหลังจากที่น้องหมาทำผิดนะคะ เพราะถ้านานกว่านี้น้องหมาอาจจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิดคิดว่าเราโกรธกับพฤติกรรมที่เค้าทำตอนนั้นอยู่แทนค่ะ ส่วนถ้าทำถูกก็อาจจะมีการให้รางวัลเล็กๆ น้อย รวมทั้งถ้าเป็นการดีเจ้าของอาจจะหัดฝึกคำสั่งง่ายๆ ให้เค้าได้เรียนรู้ เพื่อเป็นการฝึกนิสัยให้เค้าเชื่อฟังเราได้เบี้องต้นด้วยคะ

  • ในสุนัขพันธุ์ใหญ่หน่อย สุนัขเหล่านี้เป็นสุนัขพันธุ์ที่มีพลังงานในตัวค่อนข้างสูง ดังนั้นเราควรจะหาทางปลดปล่อยเค้าอย่างถูกวิธี รวมทั้งสุนัขเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นพื้นที่การเลี้ยงของเค้าต้องใหญ่ตามไปด้วย เพื่อให้เค้าไม่เกิดอาการเครียดมากเกินไป รวมทั้งเราควรยอมรับความเสี่ยงให้ได้หากเป็นสายพันธุ์ที่มีโอกาสดุค่อนข้างสูงอยู่แล้ว  อย่างเช่น บางแก้ว หรือพวกร๊อตไวเลอร์ ตัวเจ้าของเองยิ่งจะต้องให้เวลาเอาใจใส่ ต้องมีพื้นที่ให้เค้าได้วิ่งเล่นได้ออกกำลังกาย มีกิจกรรมให้เค้าทำไม่ให้เค้าหงุดหงิดจากการถูกขังกรงตลอดเวลา รวมทั้งเลี้ยงด้วยเหตุผลไม่ใช่เอะอะก็ตี ก็ทำโทษรุนแรงนะคะ

การทำกิจกรรมกับน้องหมาเพื่อลดความเครียด

2. ปรับและเปลี่ยน

        อยู่ดีๆ น้องหมาก็ดุขึ้นมา เราอาจจะต้องหาสาเหตุหรือเหตุผลของความดุที่เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน  ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนั้นเราอาจจะหลีกเลี่ยงการเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เค้าดุ หรือสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้น้องเค้าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาได้ หรือทางที่ดีควรทำให้เค้าเคยชินน่าจะดีกว่าค่ะ อย่างเช่น อาจจะให้น้องหมาออกสังคมบ้าง เพื่อเค้าจะได้ชินกับสิ่งแวดล้อมภายนอก รวมทั้งคนแปลกหน้า หากบางครั้งน้องเค้าอุดอู้อยู่แต่ภายในบ้าน พอออกมานอกบ้านทีอาจจะไม่ชินทำให้เกิดเป็นความระแวงและมีแนวโน้มที่ก้าวร้าวได้นะคะ หรือถ้าในกรณีที่เกินความสามารถของเจ้าของ อาจจะมีการส่งเข้าโรงเรียนเพื่อปรับพฤติกรรมของน้องเบื้องต้นก่อน เพื่อให้น้องเค้าได้เรียนรู้ หรืออาจจะลองปรึกษาพฤติกรรมแบบนี้กับสัตวแพทย์ แต่หลังจากเรียนรู้กับทางโรงเรียนหรือทางสัตวแพทย์แล้ว เจ้าของก็ควรเอาใจใส่ นำสิ่งสอนมาฝึก และปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอด้วยนะคะ มิเช่นนั้นพฤติกรรมที่น้องเคยปรับและเรียนรู้ไปแล้วก็จะค่อยๆ ลืมหายไป แล้วกลับมาเป็นสุนัขตัวเดิมได้ค่ะ เรื่องของการปรับพฤติกรรมนี้ เจ้าของต้องค่อยๆ ช่วยๆ กันปรับ มีความอดทน และสม่ำเสมอนะคะ รับรองได้ว่าน้องหมาเราไม่นอกลู่นอกทางแน่นอนค่ะ

3. การทำหมัน
        หลังจากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่า ฮอร์โมนเพศอาจเป็นส่วนนึงของการที่จะทำให้น้องหมาของเราดุร้ายได้ การทำหมันนี้อาจเป็นส่วนช่วยลดพฤติกรรมความก้าวร้าวได้นะคะ แต่บางครั้งการทำหมันตอนโตอาจจะไม่ช่วยอะไร เพราะถ้าความดุร้ายเกิดจากฮอร์โมนจริงๆ มักจะแสดงช่วงโตเต็มวัย คือ ประมาณอายุหนึ่งปีขึ้นไป จึงแนะนำว่าควรทำหมันก่อนอายุหนึ่งปีน่าจะเห็นผลได้ดีกว่าค่ะ  โดยสามารถพาน้องหมามาทำหมันที่โรงพยาบาลได้ตั้งแต่อายุประมาณสี่เดือนขึ้นไปนะคะ แต่อย่าลืมนะคะ ว่าความดุร้ายอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่นอกเหนือจากส่วนของฮอร์โมน ดังนั้นควรจะทำความเข้าใจไว้ก่อนว่าการทำหมันบางครั้งก็อาจจะไม่ได้ช่วยลดความดุร้ายได้ทั้งหมดค่ะ
        สุดท้ายแล้วอยากจะฝากถึงเจ้าของทุกๆ คนนะคะ ก่อนที่จะเลี้ยงน้องหมาสักตัว เจ้าของต้องมีการเตรียมตัว เข้าใจ และพร้อมที่จะเรียนรู้การเลี้ยงอย่างถูกต้อง น่าจะเป็นหนทางที่ดีสุดก่อนที่จะเกิดปัญหา แต่หากปัญหานั้นเกิดขึ้นแล้ว อยากบอกว่าสิ่งสำคัญที่เราควรจะทำให้เค้า คือ เพิ่มความเอาใจใส่ ตั้งแต่การเลี้ยงดูที่ดี  สิ่งแวดล้อมรอบตัวน้อง การฝึกฝนหรือเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ หรืออาจควบคู่ไปกับการรักษาทางสัตวแพทย์ และอย่าลืมว่าการแก้ปัญหานี้อาจจะไม่ได้ทำให้น้องหมาเราดีขึ้นภายในวันสองวัน อยากให้เจ้าของมีความอดทนในการฝึกฝน รักเค้าด้วยใจ และมีความสม่ำเสมอ  รับรองได้เลยค่ะ ว่าน้องหมาที่บ้านจะเป็นน้องหมาที่น่ารักมีแต่คนรักคนหลงแน่นอน :)

Written by Webmaster
Published on 28 August 2015
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
สพ.ญ.นนท์นฤน เกิดสุข
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)