รพ.สัตว์โอะไดจินิ | เปิด 24 ชั่วโมง

ลูกแมวตัวน้อยกับแม่แมวมือใหม่ หัวใจเกินร้อย...


        การเลี้ยงลูกแมวนั้น วิธีที่ดีที่สุด ก็คือ การให้แม่แมวเลี้ยงลูกเองอย่างน้อยที่สุดจนถึงอายุ 4 สัปดาห์ แต่แล้วถ้าแม่แมวไม่ยอมเลี้ยงลูกเองล่ะ เราจะทำยังไงกันดีน้า?


นม : คุณเจ้าของจะต้องช่วยป้อนนมลูกแมวเพื่อทดแทน ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง อุณหภูมิของนมต้องไม่ร้อนจนเกินไปนะคะ ทดสอบง่ายๆ ด้วยการใช้นมหยดบริเวณหลังมือเพื่อทดสอบดูว่าอุณหภูมิเหมาะสมแล้วหรือยัง  ท่าทางในการป้อนนมลูกแมว สามารถทำได้ด้วยการจับประคองตัวลูกแมวให้อยู่ในมือหนึ่ง โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ล็อคหัวลูกแมวไว้ให้อยู่ในท่าให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด (นอนคว่ำ ไม่หงายท้อง เพราะอาจทำให้ลูกแมวสำลักน้ำนมได้) แล้วใช้อีกมือค่อยๆ ป้อน อาจใช้ขวดนม หรือ กระบอกฉีดยาขนาดเล็กค่อยๆ ป้อนทีละนิดๆ ไม่ควรเอาปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปลึกมาก ให้ลูกแมวดูดนมเข้าไปเอง ไม่ควรฉีดนมเข้าไปเร็ว และแรง ต้องระวังการสำลักนมเข้าไปในปอด  ทั้งนี้ นมที่เลือกให้ลูกแมวไม่ควรให้นมวัว เพราะนอกจากจะคุณค่าทางโภชนาการจะไม่เหมาะสมกับลูกแมวแล้วยังอาจจะทำให้ลูกแมวท้องเสียได้ค่ะ


อาหาร :
  • อายุ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป เริ่มให้อาหารเปียกสำเร็จรูปได้ค่ะ เนื่องจากลูกแมวจะมีกระเพาะที่เล็ก ดังนั้นให้แบ่งอาหารออกเป็นหลายๆ มื้อต่อวัน ทั้งนี้ อาหารที่กินเข้าไปจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดของลูกแมว และเพื่อให้ลูกแมวได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ ไม่ขาดอาหารหรือพลังงานนานเกินไปจากระยะห่างระหว่างมื้อที่ยาวนานนั่นเองค่ะ โดยให้ใส่อาหารในชามตื้นๆ เพื่อให้ลูกแมวสามารถก้มลงกินจากชามได้เอง
  • อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป  สามารถเริ่มปรับมาให้เป็นอาหารเม็ดได้นะคะ โดยตั้งแต่อายุ 6-12 สัปดาห์ ให้แบ่งอาหารออกเป็น 4 มื้อต่อวัน  และค่อยๆ ลดปริมาณนมลง จนหย่านมที่อายุ 8 สัปดาห์
  • อายุ 3-6 เดือน ค่อยๆ ปรับลดมื้ออาหารลงเหลือเพียง 3 มื้อต่อวัน ก็น่าจะเพียงพอแล้วค่ะ
        สำหรับลูกแมวนั้นมีความต้องการพลังงานสูงกว่าแมวโตเต็มวัย 2-3 เท่า ดังนั้นจึงควรกินอาหารสูตรของลูกแมวโดยเฉพาะ และที่สำคัญไม่ควรนำอาหารสำหรับสุนัขมาให้แก่น้องแมวกินนะคะ เนื่องจากความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน อาหารแมวจะมีโปรตีนที่สูงกว่า และมีสารอาหารบางตัว ที่ไม่มีในอาหารสุนัข  ถ้าน้องแมวกินอาหารสุนัขจะขาดแคลนสารอาหารที่จำเป็นไปส่งผลต่อหัวใจ การมองเห็น และสุขภาพโดยรวมของน้องแมวได้ค่ะ

น้ำ : ควรมีน้ำสะอาดให้ลูกแมวสามารถกินได้ตลอดเวลา

ความอบอุ่น : ลูกแมวแรกเกิดจะยังไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายเอาไว้ได้ เราจึงควรใช้ขวดน้ำอุ่นห่อผ้าขนหนูให้ลูกแมวเข้าไปซุกตัว หรือเปิดไฟกก (ควรเป็นหลอดไฟที่ให้ความร้อน) ให้ความอบอุ่นแก่ลูกแมว โดยควรตั้งไฟกกให้ห่างจากลูกแมวอย่างน้อย 30 เซนติเมตร และควรหาที่กำบัง หรือส่องไฟไว้ในตำแหน่งที่ลูกแมวสามารถคลานหรือเดินหนีได้หากรู้สึกว่าร้อนจนเกินไป 

การกระตุ้นการขับถ่าย : ลูกแมวเล็กๆ ตามปกติแล้วจะต้องอาศัยแม่แมวเลียเพื่อช่วยกระตุ้นการขับถ่ายจนอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้าแม่แมวไม่เลี้ยงลูกเอง คุณเจ้าของจะต้องช่วยกระตุ้นแทน โดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นๆ แตะๆ หรือนวดบริเวณรูทวารและอวัยวะเพศ เป็นการเลียนแบบการเลียช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของแม่แมวนั่นเองค่ะ
  • อายุ 4 สัปดาห์ สามารถเริ่มสอนให้ลูกแมวใช้กระบะทรายได้ โดยจับวางลงกระบะทรายหลังกินอาหาร หรือทุกครั้งที่แสดงท่าทางว่ากำลังจะเบ่งถ่าย
  • กระบะทรายที่ดี ควรมีขนาดและความลึกเหมาะสม มีจำนวนกระบะทรายเท่ากับจำนวนแมวบวกหนึ่ง ควรมีฝาปิดเพื่อป้องการทรายหกเลอะเทอะและลดกลิ่น

การอุ้มลูกแมว : ถ้าแม่แมวเลี้ยงลูกเองไม่ควรอุ้มเยอะจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด เพราะอาจจะทำให้แม่แมวไม่เลี้ยงได้
ถ้าต้องการอุ้มลูกแมว ควรอุ้มด้วยความระมัดระวัง และช้อนบริเวณใต้ท้องนะคะ

ระยะเวลาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางสังคม (Socialization Period) ของแมวจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 2-7สัปดาห์
  • ลูกแมวจะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่ดี และเริ่มมีการเล่นกันในระหว่างพี่น้องในครอกเดียวกันที่อายุประมาณ 4 สัปดาห์ ลูกแมวจะมีการเรียนรู้ที่จะยับยั้งการกัดและการตะปบไม่ให้แรงเกินไป
  • ลูกแมวที่ไม่มีประสบการณ์เล่นกับพี่น้องจะเรียนรู้ทักษะทางสังคมได้ช้ากว่าลูกแมวที่ได้เล่นกับพี่น้อง และอาจจะไม่รู้จักการยั้งการใช้กรงเล็บ


  • วิธีแก้ คือ ให้ลูกแมวเล่นของเล่น ถ้าใช้มือเราเป็นของเล่น เมื่อโตขึ้นลูกแมวจะทำให้เราเจ็บตัวได้ค่ะ


การดูแลช่องปากและฟัน : ฟันน้ำนมจะเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 3-6 สัปดาห์ และฟันแท้จะขึ้นตอนอายุประมาณ 4 เดือน ควรเริ่มต้นดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้เร็วที่สุด และพาไปพบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาเหงือกอักเสบและหินปูนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

อาการเจ็บป่วยที่มักพบในลูกแมว : มักพบลูกแมวมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  ภาวะแห้งน้ำ  และอุณหภูมิต่ำได้ง่าย ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าลูกแมวเริ่มไม่กินนมหรืออาหาร น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ไม่ขับถ่าย หรือมีอาการท้องเสีย  ตัวเย็นกว่าปกติ ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป

วัคซีน : ควรเริ่มทำที่อายุ 8 สัปดาห์ ระหว่างนี้ยังไม่ควรพาเจ้าตัวน้อย ลูกแมวของเราออกไปเที่ยวนะคะ เพราะ ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคที่ดี อาจทำให้ง่ายต่อการป่วย หรือติดเชื้อนั่นเองค่ะ
        ☺อย่าลืมพาลูกแมวตัวน้อยของเราไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำวัคซีนเข็มแรก และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอยู่เสมอนะคะ เพื่อเจ้าตัวน้อยของเราจะได้มีสุขภาพที่ดี อยู่กับเราไปได้อีกนานๆ นะคะ ☺
        สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับโปรแกรมวัคซีนในแมวได้ >>ที่นี่<< 

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก: funnykittensite.com, kawaiicase.com, pets.webmd.com, warrenphotographic.co.uk, pitt.edu, petbucket.com

Written by Webmaster
Published on 24 September 2015
สพ.ญ.ดร.วีจาริน ปภุสสโร อิฐรัตน์
สพ.ญ.ดร.วีจาริน ปภุสสโร อิฐรัตน์
อายุรกรรมทั่วไป
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่ http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)