โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Degenerative Mitral Valve Disease)
โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลังจากเกิด พบได้มากในสุนัขพันธุ์เล็ก และสุนัขที่มีอายุมาก อย่างไรก็ตามสุนัขบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ Cavalier King Charles Spaniels สามารถเป็นโรคนี้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
สุนัขพันธุ์ Cavalier King Charles Spaniels
ลิ้นหัวใจไมทรัล Mitral valve คือ ลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้าย Left Atrium และล่างซ้าย Left Ventricle
ภาพแสดง เส้นทางการไหลของเลือดในหัวใจ
เลือดดำจากร่างกาย >> หัวใจห้องบนขวา RA >> ผ่านลิ้น Tricuspid >> ห้องล่างขวา RV >> ไปฟอกที่ปอด >> กลับมาเป็นเลือดแดง >> เข้าหัวใจห้องบนซ้าย LA >> ผ่านลิ้น Mitral >> เข้าหัวใจห้องล่างซ้าย LV >> ส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกาย
ส่วนสาเหตุของการเกิดโรค คาดว่าเกิดจากความเสื่อมสภาพในการทำงานของลิ้นหัวใจ และอายุที่มากขึ้นทำให้ลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้น จนทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท เกิดรูรั่ว เลือดจึงไหลย้อนจากห้องล่างขึ้นห้องบนได้
ภาพซ้ายสุด แสดงลิ้น Mitral ปกติ และอีก 3 รูปขวามือ เป็นความเสี่อมของลิ้น Mitral แบบต่างๆ
ภาพซ้ายสุด แสดงลิ้น Mitral ปกติ และอีก 3 รูปขวามือ เป็นความเสี่อมของลิ้น Mitral แบบต่างๆ
อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของรูรั่ว ส่วนใหญ่สุนัขจะมีอาการไอ เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง เป็นลม ใช้แรงมากในการหายใจ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว
การตรวจวินิจฉัยของสัตวแพทย์ในทางคลินิก สามารถทำได้ดังนี้
- ประวัติอาการจากการซักประวัติ
- การตรวจร่างกายเบื้องต้น จากการฟังเสียงการเต้นของหัวใจ
- ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ช่องอก (X-ray) เพื่อดูขนาดของหัวใจและดูลักษณะผิดปกติของปอด
- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหรืออัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography) เพื่อดูการเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography)
- การวัดความดันเลือด เพื่อประเมินว่าสุนัขมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยหรือไม่
ภาพเอ็กซเรย์ (X-ray)ช่องอก ดูขนาดหัวใจและความผิดปกติของปอด
ภาพแสดงการอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiography)
ภาพแสดงการตรวจวัดความดัน ประกอบการตรวจโรคหัวใจ
การตรวจฟังเสียงหัวใจ และเสียงปอด
การรักษา
เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้แล้ว สัตวแพทย์จะพิจารณาชนิดและขนาดยาที่จะให้ ตามอาการของโรคในระยะต่างๆ โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่
- กลุ่มยาขับน้ำ ได้แก่ Furosemide, Spironolactone เพื่อขับของเหลวส่วนเกินที่สะสมอยู่ในปอด และส่วนต่างๆ ของร่างกายออก
- กลุ่มยาที่ช่วยในการบีบตัวของหัวใจ ได้แก่ Pimobendan เพื่อช่วยบีบตัวให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
- กลุ่มยาขยายหลอดเลือด ได้แก่ Enalapril, Ramipril, Benazepril เพื่อควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงจนเกินไป
ทั้งนี้การให้ยาไม่สามารถรักษาโรคหัวใจให้หายขาดได้ แต่เป็นเพียงการบรรเทาอาการให้ทุเลาลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สัตวแพทย์จะนัดเจ้าของมาติดตามอาการ เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจเป็นระยะ และปรับการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของสุนัขแต่ละตัวต่อไป
Written by Webmaster
Published on 24 September 2020
ผู้สนับสนุนบทความ
• ด้านล่างเป็นเพียงส่วนของการคอมเม้นบทความเท่านั้น หากท่านต้องการสอบถามปัญหาสุขภาพสัตว์เลี้ยง กรุณาเข้าไปที่
http://www.facebook.com/odaijinipet และส่งข้อความเข้าสอบถามใน Inbox ท่านจะได้การตอบกลับโดยเร็วที่สุด และหากเป็นเรื่องเร่งด่วนอยากได้คำตอบโดยเร็วโทรสอบถามได้ที่ 02-9485099 ขอบคุณค่ะ :)